7 ความในใจจากลูกพี่ถึงลูกน้องGenY


     นอกจากการบริหารงาน workflow workload ในออฟฟิศแล้วสิ่งนึงที่เหล่าลูกพี่จะลืมไม่ได้ คือการบริหารความสัมพันธ์ของคนในองค์กร หลายๆองค์กรอาจจะเหมือนกำลังไปด้วยดีแต่หากลูกพี่ขององค์กรนั้นเป็นคนที่ขาดทักษะในการบริหารความสัมพันธ์ในองค์กร หรืออาจจะปล่อยปะละเลยให้ความสัมพันธ์ในองค์กรแย่ลง องค์กรนั้นก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ

ลูกพี่จึงต้องเข้าใจลูกน้อง ขณะเดียวกัน ลูกน้องก็ควรมีความเข้าใจลูกพี่ด้วย และนี่คือ #7ความในใจจากลูกพี่ถึงลูกน้องGenY เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นตัวแทนเสียงจากลูกพี่ ให้ลูกน้องเข้าใจลูกพี่หน้าเข้มกันมากยิ่งขึ้น...


1 ลูกพี่ไม่ได้สบายเหมือนอย่างที่เห็น

บางทีน้องๆอาจจะคิดว่า ลูกพี่ดูสบายๆ สามารถออกไปข้างนอกในเวลาต่างๆ อาจจะไม่ต้องเข้างานเวลาเดียวกับลูกน้อง เวลาการทำงานก็แสนจะยืดหยุ่นไม่ต้องถูกบังคับให้อยู่ในออฟฟิศเหมือนน้องๆทีมงาน

เป็นความจริงที่ลูกพี่ อาจจะดูเหมือนสามารถจัดการเวลาของตัวเองได้โดยไม่มีใครบังคับ ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน แต่การไม่มีใครบังคับ แท้จริงแล้วนั้นหมายถึงการต้องบังคับตัวเองให้งานสำเร็จลุล่วง ตามแผนการที่วางไว้ มิฉะนั้นแล้ว เวลาที่งานไม่เป็นไปตามแผน คนที่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบมากที่สุดก็คือลูกพี่นั่นเอง

ลูกพี่ผู้มุ่งมั่นหลายคนที่เรารู้จักเรียกได้ว่าทำงานตลอดเวลา ไม่มีเวลาเปิดงานตอน 9โมงเช้า - ปิดตอนห้าโมงเย็นเหมือนน้องๆทีมงานทั่วไป เรียกได้ว่าเวลางานกับเวลาส่วนตัวมันกลายเป็นเรื่องเดียวกันไปหมด หรือที่หลายๆคนเรียกกันว่า “สปิริตของผู้ประกอบการนั้นคือ งานอยู่ในสายเลือด”

ยิ่งสมัยที่เริ่มต้นกิจการ ลูกพี่มือใหม่ นั้นเรียกว่าน่าจะเคยทำมาแล้วแทบทุกตำแหน่งในบริษัท ตั้งแต่ หาลูกค้า หาลูกน้อง ออกเอกสาร วางบิล เก็บเช็ค ซ่อมคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั้งทำความสะอาด เรียกได้ว่าถ้าไม่อยากให้บริษัทเจ๊ง ทุกเวลาคือเวลาการทำงานเลยทีเดียว

ดังนั้นที่เราเห็นว่าลูกพี่ดูเหมือนสบาย บางทีเราอาจจะกำลังมองเห็นเหรียญเพียงด้านเดียวอยู่ก็เป็นได้


2 ลูกพี่บางทีก็ไม่ได้รวยกว่าลูกน้อง

คนส่วนมากมักจะเข้าใจว่าการเป็นเจ้าของกิจการนั้นแปลว่าร่ำรวย หลายๆครั้งภาพที่เห็นภายนอกเราอาจจะคิดว่าคนเป็นลูกพี่ หรือเจ้าของกิจการอาจจะแต่งตัวโก้เก๋ดูดี มีรถขับ โทรศัพท์จอสี (อันนี้อาจจะเก่าไปซักหน่อย)

แต่จริงๆแล้ว ลูกพี่ที่เราเห็นหลายๆคน อาจจะมีรายได้น้อยกว่าลูกน้องของตัวเองซะอีก โดยเฉพาะกับธุรกิจที่เริ่มต้นใหม่ๆ ลูกพี่มือใหม่หลายๆคนเลือกที่จะไม่รับเงินเดือนหรือยอมรับเงินเดือนที่น้อยกว่าทีมงานที่จ้างมาซะอีก เพราะต้องการจะประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด ซึ่งหากกิจการไปได้ดีก็ดีไป ว่ากันว่ากิจการส่วนใหญ่มักจะไปไม่รอดในสามปีแรก เรียกได้ว่าครบสามปี แถมหนี้สามล้านกันเลยทีเดียว


3 ลูกพี่นอนไม่หลับแทบทุกวัน

ปัญหาของการเป็นลูกพี่ อย่างนึงก็ปัญหาด้านความเครียด ไม่ว่าจะเกิดจากการบริหารเงิน บริหารงาน รวมถึงความรับผิดชอบที่มีต่อลูกค้า ต่อลูกน้อง หรือต่อผู้ถือหุ้น ความเครียดเหล่านี้เรียกได้ว่า ทำเอาลูกพี่นอนไม่หลับกันเลยทีเดียว

พอนอนไม่หลับนานๆเข้าก็ยิ่งส่งผลต่อความเครียด พอเครียดก็กลายเป็นยิ่งนอนไม่หลับ เป็น วัฏจักรวนๆกันไป ลูกพี่หลายๆรายที่เรารู้จักประสบปัญหานี้กันเยอะมาก บางคนอาจจะเป็นลูกพี่ที่อายุไม่เยอะ พอนอนไม่หลับนานๆ กลายเป็นคนหน้าแก่เกินวัยไปอีกหลายสิบปี เรียกว่าอาวุโสล่วงหน้ากันเลยทีเดียว


4 ลูกพี่มีเรื่องให้เสี่ยงเสมอ

ลูกพี่หลายๆคน เรียกว่า เป็น Risk taker (ผู้รองรับความเสี่ยง) ขนานแท้ หลายๆคนยอมเอาทรัพย์สินชิ้นสุดท้ายในชีวิต เช่นบ้าน ที่ดิน ที่อาจจะได้เป็นมรดก หรือแม้แต่บ้านของตัวเอง เอาไปจำนองธนาคารเพื่อนำเงินมาใช้ในการทำธุรกิจ หากธุรกิจไปได้ด้วยดีก็ดีไป มีเงินเอามาคืนให้กับธนาคาร หากธุรกิจไม่ดีลูกพี่หลายๆหลายอาจจะไม่เหลือแม้บ้านให้พักอาศัย

นอกจากความเสี่ยงในแง่ของการลงทุนในกิจการแล้ว เหล่าลูกพี่ยังคงมีความเสี่ยงในอีกหลายๆเรื่อง ที่คนที่เป็นลูกน้องอาจจะไม่ได้สัมผัส ไม่ว่าความเสี่ยงทางการเมือง ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่สมัยนี้นิยมกันเรียกว่า Digital disruption ก็ทำให้เพื่อนๆของเราปิดกิจการกันไปหลายแห่งเลยทีเดียว

การเป็นลูกน้องบางทีนั้นอาจจะเหนื่อยและกดดันจากการทำงาน บางครั้งลูกน้องอาจจะรู้สึกว่า ทำไมต้องทน ซึ่งแน่นอนสำหรับลูกน้องอาจจะตัดสินใจได้ด้วยการลาออก หางานใหม่ เสียหายอย่างมากก็แค่เงินเดือน แต่สำหรับลูกพี่แล้ว เราไม่สามารถลาออกได้ เพราะความเสี่ยงที่เราใส่เข้าไปในงานนั้นอาจจะหมายถึงบ้านทั้งหลังของพ่อแม่ รวมถึงชีวิตของลูกน้องทีมงานอีกหลายๆคนที่ไม่ได้คิดจะลาออกไปด้วย


5 ลูกพี่เจ็บเสมอเวลาน้องลาออก

หนึ่งในความท้อแท้ของลูกพี่ผู้ทำธุรกิจ ก็คือลูกน้องเดินเข้ามาแล้วบอกว่าจะลาออก ยิ่งน้องๆที่ทำงานด้วยกันดีๆ หรืออยู่ด้วยกันมาหลายปี มาลาออกเรียกได้ว่าลูกพี่ที่เรารู้จักหลายคนถึงกับเป๋ไปเลยก็มี

ถึงแม้เหล่าลูกพี่จะเข้าใจว่าวันๆนึงชีวิตคนย่อมมีทางเดินที่ตัวเองต้องการ แต่หลายๆครั้งเราก็อดนึกไม่ได้ว่า เราดูแลพวกเขาได้ไม่ดีพอ หรือเราวางแผนเผื่ออนาคตไปข้างหน้าให้พวกเขาไม่ได้หรือเปล่า เขาถึงต้องจากไป เรียกได้ว่าคิดมากเหมือนสมัยวัยรุ่นที่ถูกแฟนบอกเลิกเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกพี่จะยิ่งรู้สึกเจ็บ ถ้าลูกน้องคนโปรดลาออกไปอยู่กับบริษัทคู่แข่ง ซึ่งมักเกิดขึ้นเสมอๆ กับบริษัทไซด์ขนาดเล็กที่ไม่ได้มีเงินทุนมากนัก

ลูกพี่หลายคนถึงแม้จะผ่านพ้นวัยอกหัก รักคุดของวัยรุ่นมาแล้ว การโดนลูกน้องที่รักมาบอกลา ก็เหมือนโดนคนรักมาบอกเลิก เรียกได้ว่า อกหักเมื่อแก่ ท้อแท้ยามหลับ กันเลยทีเดียว


6 ลูกพี่ไม่ได้ใจร้ายแต่จำเป็นต้องเด็ดขาด

ข้อนี้เหมือนจะตรงกันข้ามกับข้อที่แล้ว ลูกพี่ในบริษัทหลายๆแห่ง มีหน้าที่ที่จะต้องประเมินผลงานของทีมงาน ให้คุณให้โทษกับลูกน้อง จนถึงกระทั่ง หลายๆครั้งที่จะต้องให้ลูกน้องที่ไม่ผ่านการประเมิน ออกจากงาน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับลูกพี่มือใหม่ จนถึงขนาดมีคำกล่าวว่า หากยังไม่เคยให้คนออกจากงาน ก็เรียกได้ว่ายังไม่ผ่านหลักสูตรเบื้องต้นของผู้ประกอบการ

การที่ไม่ตัดสินใจประเมินผลงานด้วยความเป็นธรรมจริงๆแล้วนั้น มีโทษร้ายแรงต่อบริษัทในภาพรวม เพราะในเมื่อคนที่ไม่ดี ไม่ถูกทำโทษคนที่ทำดีก็จะพลอยเสียกำลังใจ และจะทำให้คนดีกลายเป็นประพฤติตัวไม่ดีตามๆคนไม่ดีอีกด้วย เหมือนดังสำนวนที่ว่า ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง

แน่นอนคนส่วนใหญ่ไม่ได้อยากใจร้ายหรือโดนรังเกียจ แต่การประเมินคนและให้คนออกก็เป็นส่วนนึงของงานที่ลูกพี่ต้องทำ


7 ลูกพี่ก็มีเจ้านายเหมือนกัน
ลูกน้องอาจจะคิดว่าการเป็นลูกพี่นั้นแสนจะสบายไม่ต้องมีเจ้านายมากำหนด แต่แท้จริงแล้วคนเป็นลูกพี่ไม่ได้แปลว่าไม่มีเจ้านาย เจ้านายของลูกพี่ก็คือลูกค้านั่นเอง ซึ่งหากลูกพี่ไม่สามารถดูแลความพอใจของลูกค้าได้แล้วนั้น เรียกได้ว่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบริษัทและลูกน้องทุกคนอาจจะต้องเดือดร้อนไปด้วย

ในขณะที่ มีอีกแนวความคิดนึงที่น่าสนใจ ว่าจริงๆแล้วงานของลูกพี่คือดูแลลูกน้อง ในขณะที่งานของลูกน้องนั้นคือการดูแลลูกค้า ก็นับเป็นแนวคิดในการทำงานที่ดีและน่าสนใจ ผู้ประกอบการชั้นครู
หลายๆแห่งก็ได้กล่าวสนับสนุนความคิดนี้เช่นกัน หากสนับสนุนความคิดนี้อย่างจริงจังก็จะเห็นว่า ลูกน้องกลับกลายเป็นเจ้านายของลูกพี่นั่นเอง(ฮา)

ตราบใดที่เรายังอยู่ในระบบเศรษฐกิจ จริงๆแล้วการเป็นลูกน้องหรือลูกพี่ ก็ต้อง Serve หรือรับใช้ใครซักคนเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ระบบเศรษฐกิจของเราจึงจะดำเนินต่อไปได้ ลูกพี่ลูกน้องนั้นก็เหมือนของคู่กัน ต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จะขาดใครไปก็คงไม่ได้

The Screenology ขอเป็นกำลังใจให้ทั้งลูกพี่ลูกน้อง มีความเข้าใจกันและส่งเสริมช่วยเหลือกันและกันให้องค์กรของทุกท่านเติบโต สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
“The Screenology make employee happier”


ปัจจุบันมีศัพท์ในวงการ HR(Human Resource) เรียกกันว่า Employer branding ที่นอกจากลูกพี่จะต้องมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อลูกค้า แล้ว ลูกพี่ยังต้องมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อลูกน้องเพื่อให้สามารถดึงดูดคนเก่งๆ และดีๆ เข้ามาในองค์กรอีกด้วย

เราจะเห็นได้ว่า องค์กรชั้นนำหลายๆแห่ง จะเน้นสร้างความสัมพันธ์ในองค์กร ให้คนในองค์กรรักและสามัคคีกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกไปOuting การจัดทำสัมมนา กิจกรรม เพื่อทำลายกรอบ และทำให้ทีมงานได้รู้จักสนิทสนมกันมากขึ้น เพื่อลดความขัดแย้งขององค์กร

เมื่อ Employer Branding เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรให้ความสำคัญ ชุดยูนิฟอร์มองค์กรหรือแม้แต่เสื้อสำหรับทำกิจกรรมต่างๆขององค์กร เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้าง Branding ให้กับองค์กรอย่างง่ายๆ และบริการจาก The Screenology เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้

เพราะ #TheScreenology คือ #ผู้เชี่ยวชาญงานพิมพ์สกรีน ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี รองรับหลากหลายเทคนิคการผลิตเพราะมีเครื่องมือที่ทันสมัย เป็น One stop serveice ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกรูปแบบ




Visitors: 545,424